ขันทองแห่งทิเบต อีกหนึ่งการประยุกต์ร่วมกันระหว่างโยคะและการบำบัดด้วยเสียง

เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนยุคปัจจุบัน การรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยในสมัยก่อนจึงมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและอ้างอิงมาจากธรรมชาติ เช่น การนำพืชสมุนไพรมาทำยา การใช้ความร้อน ความเย็น แก้ฟกช้ำ ปรับอุณภูมิร่างกาย การใช้กลิ่นและเสียงในการรักษา โยคะเองก็เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น เมื่อคนในยุคปัจจุบันหันมาสนใจการฝึกปฏิบัติตามวิถีทางแบบธรรมชาติดั้งเดิม จึงนำศาสตร์เก่าแก่มาประยุกต์ใช้กับโยคะด้วย หนึ่งในนั้นคือการบำบัดด้วยเสียง

เสียงช่วยบำบัดและฟื้นฟูร่างกายอย่างไร

เสียงไม่ได้มีความสัมพันธ์แค่เฉพาะกับอวัยวะรับเสียงอย่างหูเท่านั้น แต่คลื่นเสียงยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย จนถึงระดับโมเลกุลได้ด้วย นั่นเพราะร่างกายคนเรามีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึง 60% ซึ่งเป็นส่วนที่คลื่นเสียงสามารถผ่านเข้าไปได้ดีที่สุด ทำให้การได้ยินเสียงบางอย่างสามารถไปกระตุ้นการทำงานในระดับเซลล์ของร่างกายได้ จึงมีผลในแง่ของการรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ

ลองนึกภาพถึงคนในยุคปัจจุบันที่ต้องทำงานหรืออาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังวุ่นวายตลอดเวลา นอกจากจะทำให้มีอารมณ์ที่หงุดหงิดง่ายหรือสมาธิสั้น ขาดความรอบคอบในการตัดสินใจแล้ว  การถูกรบกวนด้วยคลื่นเสียงที่ยุ่งเหยิงนานๆ อาจส่งให้เกิดความเครียดจนร่างกายเจ็บป่วย ต่างจากคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เช่น นักบวชที่อยู่ในวัด ที่ได้ยินเพียงเสียงลมพัดใบไม้ หรือเสียงกระดิ่งสั่นไหว ทำให้มีอารมณ์สงบ ส่งผลให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติและผ่อนคลาย ความเจ็บป่วยก็น้อยลง หรือไม่มีเลย

ขันทองแห่งทิเบต เสียงบำบัดจากอดีตและการฝึกโยคะ

หนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดด้วยเสียง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือขันหรือถ้วยบำบัดต่างๆ (Singing Bowl) ที่มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Jamboti Bowl, Thadobati Bowl, Remuna Bowl และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในปัจจุบัน คือขันทองแห่งทิเบต (Tibetan Singing Bowl) ที่มีประวัติยาวนานกว่าพันปี ปรากฏครั้งแรกในสมัยพระพุทธศากยมุณีในอินเดีย และถูกนำไปเผยแพร่ในทิเบต ถูกใช้โดยพระเพื่อการทำสมาธิ คลื่นเสียงที่มาจากการตีขันนี้ ช่วยปรับสมดุลของสมองซีกซ้ายและขวา ทั้งยังมีงานวิจัยรองรับในปัจจุบันว่า ช่วยลดความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และเจ็บปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย มีประสิทธิภาพในระดับที่สามารถทำให้ผู้ป่วยบางรายลดการกินยาได้ ในไทยเรายังถูกนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางแห่งด้วย ในแง่ของโยคะ ขันทองแห่งทิเบตถูกนำมาใช้ร่วมกับการทำสมาธิ ช่วยทำให้จิตใจจดจ่อกับสภาวะปัจจุบัน เชื่อมโยงจิตใจและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียว ส่วนใหญ่แล้วครูผู้สอนจะตีเป็นจังหวะในระหว่างที่นักเรียนทำสมาธิ แต่บางครั้งนักเรียนสามารถตีขันหรือถ้วยนี้เองระหว่างทำสมาธิไปด้วยได้

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสส่วนใด ทั้งการมองเห็น การสัมผัส การรับรส หรือการได้ยิน ล้วนมีความสำคัญต่อจิตใจและร่างกายของเราทั้งสิ้น เพราะจิตใจที่ได้รับการเยียวยา จะนำมาซึ่งร่างกายที่แข็งแรง เสียงบำบัดนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความมั่นคงจากจิตภายในและนำไปสู่ความแข็งแรงของร่างกายภายนอกเช่นกัน

 

โยคะกับอาหาร ไขข้อข้องใจ ผู้เล่นโยคะต้องกินมังสวิรัติเท่านั้นจริงไหม

คำกล่าวที่ว่า You are what you eat เป็นความจริงเสมอ หากเราเลือกกินอาหารที่เน้นอร่อยแต่ไม่เกิดคุณค่า ร่างกายเราก็จะแสดงออกมาเช่นเดียวกับอาหารที่กินลงไป คนที่อยากมีผิวพรรณดี มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ จึงมักใส่ใจกับอาหารการกิน เช่นเดียวกับการเล่นโยคะ เมื่อเราเลือกวิธีออกกำลังกายที่จะทำให้จิตใจได้จัดระเบียบอย่างโยคะ เท่ากับว่า เราให้ความสำคัญกับร่างกายตนเอง ดังนั้น การคำนึงถึงคุณภาพอาหารพร้อมกับบริหารร่างกายไปด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็น

คำถามที่พบบ่อยคือ หากโยคะมีต้นกำเนิดมาจากโยคี แล้วเราจำเป็นต้องกินอาหารมังสวิรัติเหมือนโยคีด้วยไหม คำตอบคือคุณสามารถกินอย่างไรก็ได้ตามความเหมาะสม แต่เหตุที่การกินมังสวิรัติมีผลต่อผู้ฝึกโยคะ เนื่องมาจาก แนวคิดในการฝึกที่ว่าอาหารมีผลต่อจิตใจเช่นเดียวกับที่มีผลต่อร่างกาย การกินอาหารบางอย่างจึงส่งผลต่อการฝึกพัฒนาจิตใจในการเล่นโยคะด้วย ดังนั้น จึงมีแนวทางในการเลือกกินอาหารสำหรับผู้ต้องการพัฒนาตนเองด้วยโยคะ ดังนี้

อาหารที่ควรกินมาก (Sattic food) 

อาหารที่สามารถกินได้ในปริมาณมากและไม่เป็นโทษต่อร่างกาย คืออาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว สมุนไพร เมล็ดพืชต่าง ๆ รวมไปถึงน้ำผึ้ง น้ำตาลทรายดิบ น้ำมันเนยอินเดีย (Ghee butter) อาหารจำพวกนี้มีผลให้รูปร่างดี เพราะย่อยง่าย ทำให้สบายท้อง ผู้กินก็รู้สึกจิตใจปลอดโปร่งไปด้วย 

อาหารที่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม (Rajasic food)

อาหารที่สามารถกินได้ในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป คือ อาหารที่มีรสเผ็ด  เค็ม ขม อาหารร้อนจัด หรือเย็นจัดต่าง ๆ เช่น พริกไทย หัวหอม กระเทียม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ไวน์ อาหารที่ร้อนหรือเย็นจัด เนื่องจากหากร่างกายถูกกระตุ้นด้วยอาหารพลังงานสูงเหล่านี้จะทำให้ไม่ได้รับการพักผ่อน จึงควรเลือกกินในบางโอกาส เช่น กินอาหารร้อนในฤดูหนาวที่ร่างกายต้องการความอบอุ่น

อาหารที่ควรกินแต่น้อย (Tamasic food)

อาหารที่ควรกินแต่น้อยคืออาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา ไข่ อาหารที่มีส่วนกระตุ้นการสูบฉีดการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง เนื่องจากอาหารจำพวกนี้ทำให้รู้สึกร่างกายหนัก ส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เกิดความเฉื่อยชา ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่มีแก่ใจจะออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

อาหารส่วนใหญ่ที่สด สะอาด ผ่านการปรุงสุกใหม่ ๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งนั้น แต่หากการฝึกโยคะทำให้หลายคนกังวลว่าต้องกินอาหารตามข้อปฏิบัติดั้งเดิมจึงจะบรรลุผลสำเร็จมากกว่าแต่ตนเองไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะแม้ว่าแนวทางดังกล่าวมาจากการทดลองที่ได้ผลของคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องกินอาหารแบบนั้น เช่นเดียวกับการฝึกท่าโยคะต่าง ๆ ที่บางคนสามารถก้มตัวหรือเหยียดยืดตัวได้มาก แต่บางคนกลับทำได้น้อย การกินอาหารก็เช่นเดียวกัน เพราะอาหารแต่ละอย่างส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ทุกข์ทรมานกับการจำกัดอาหารบางอย่างจนเกินไป จึงควรนำแนวทางข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตของแต่ละคนจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

ผู้ชายกับการเล่นโยคะ ความแข็งแรงที่ท้าทายคนแมน  ๆ แบบคุณ

เมื่อพูดถึงโยคะ ภาพที่คนทั่วไปเห็นกันจนชินตา มักจะเป็นภาพผู้หญิงมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้ชายเล่นโยคะ เพียงแต่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่า ผู้ชายมักเลือกออกกำลังกายหนัก ๆ เน้นสร้างกล้ามเนื้อรวดเร็วมากกว่าที่จะออกกำลังด้วยการเคลื่อนไหวช้า ๆ และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ แต่ถึงอย่างนั้น การฝึกโยคะก็ยังให้คุณประโยชน์หลายอย่างต่อผู้ชายไม่น้อยไปกว่าผู้หญิงเลย

แล้วทำไมผู้ชายบางส่วนถึงไม่อยากเล่นโยคะ

นอกจากความลำบากใจเมื่อได้จินตนาการภาพตัวเองกำลังยืดแขนกางขาอย่างช้า ๆ ท่ามกลางเพื่อนร่วมคลาสที่เป็นสาว ๆ แล้ว ผู้ชายบางส่วนยังมีความเข้าใจผิดว่าโยคะจะทำให้ผอม ซึ่งไม่ใช่สรีระที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และคิดว่าให้สาว ๆ เล่นไปเถอะ ส่วนเรายกดัมเบลดีกว่า ถ้าอยากได้กล้ามแขน แถมยังเข้าใจว่าโยคะไม่ค่อยท้าทายเพราะดูเหมือนจะทำง่ายอีกด้วย แต่เมื่อได้มีโอกาสลองครั้งแรก หลายคนกลับพบว่าโยคะสามารถเรียกเหงื่อได้ไม่แพ้การออกกำลังกายหนัก ๆ เลยทีเดียว

โยคะให้ประโยชน์อะไรกับผู้ชายบ้าง

  • ลดความตึงเครียด

แม้ว่าคนทุกคนไม่ว่าเพศไหน ก็มีเรื่องให้เครียดกันทั้งนั้น แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่มีวิธีระบายความเครียดได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการกินขนมหวาน ๆ หรือเล่าปัญหาให้เพื่อนสนิทฟัง แต่ผู้ชายส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น หลายครั้งที่ผู้ชายไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าหน้าที่การงาน หรือชีวิตประจำวันอันยุ่งเหยิง ได้สะสมเป็นความกดดันภายในที่ตนเองเลือกที่จะไม่แสดงออก การฝึกหายใจ ทำสมาธิ และยืดหยุ่นร่างกายด้วยโยคะ สามารถบรรเทาความหนักหน่วงในใจเหล่านั้นได้

  • มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น

เมื่อคุณได้ทำความเข้าใจกลไกต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจ ผ่านการฝึกโยคะ นอกจากสุขภาพจะดี จิตใจปลอดโปร่ง ลดความเครียด ยังพบว่าประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น บางครั้ง หน้าที่การงานบางอย่างต้องอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้อง แม่นยำ นอกจากต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมาช่วยแล้ว สมาธิที่ได้รับจากการฝึกฝนโยคะ ยังช่วยส่งเสริมไหวพริบและสัญชาตญาณในการคิดและตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ดีขึ้นด้วย

  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

แน่นอนว่าโยคะก็สามารถสร้างกล้ามเนื้อให้ได้ไม่แพ้การออกกำลังกายหนัก ๆ ชนิดอื่น ๆ เพียงแต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอและตั้งใจฝึกฝน เมื่อทำไปได้สักพัก กล้ามเนื้อที่หย่อนคล้อยบางส่วน จะกลับมากระชับมากขึ้น หรือหากถามถึงซิกแพ็ก โยคะก็สามารถให้ได้ เช่น จากการใช้ท่า upward – facing dog นอกจากจะได้หน้าท้องสวยงาม ยังบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วย

  • ช่วยทำให้ตัวหอม

โยคะไม่ได้ทำให้ผู้เล่นมีกลิ่นหอมโรแมนติกเหมือนน้ำหอมจริง ๆ แต่ในขณะที่กำลังเล่นนั้น เหงื่อและการหายใจออก ได้มีส่วนช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อคุณอาบน้ำชำระร่างกาย จึงทำให้รู้สึกสะอาดและบางคนอาจสัมผัสได้ว่าร่างกายตนเองมีกลิ่นหอมเบา ๆ ออกมา

ตัวอย่างข้างต้น เป็นแค่ประโยชน์บางส่วนเท่านั้น ยังมีข้อพิสูจน์หลายอย่างที่บอกว่าโยคะให้ประโยชน์มากมายกับผู้ชายไม่แพ้ผู้หญิง ซึ่งการได้ทดลองด้วยตนเองสักระยะหนึ่งก่อนประมาณ 1-3 เดือน จะสามารถช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ได้ แต่เชื่อว่าการทดลองด้วยความสมัครใจโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ใด ๆ นอกจากเพื่อรักษาร่างกายตนเองให้ดี จะทำให้กิจกรรมนี้สามารถสร้างความสมดุล และความสุข ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ จนผู้เล่นแทบไม่ต้องคาดหวังผลลัพธ์อะไรมากมายเลย เพราะกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง

 

ความแตกต่างทางกาลเวลาของโยคะดั้งเดิมและโยคะสมัยใหม่

เป็นที่รู้กันว่า โยคะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียมากกว่าห้าพันปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ การดำรงอยู่ของโยคะจึงอาจไม่ได้ครอบคลุมศาสตร์ดั้งเดิมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานเก่าแก่ที่ยังคงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นไม้แกะสลัก รูปปั้นท่าฝึกต่าง ๆ ก็ยังพอทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่า แนวคิด วิทยาการ การรักษาร่างกายและจิตใจของมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อนเป็นอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่แบบไหนได้บ้าง

โยคะดั้งเดิม

โยคะดั้งเดิม มีต้นกำเนิดมาจากโยคีในประเทศอินเดีย ที่ต้องการรักษาร่างกาย เมื่อยามเจ็บปวดจากการทำสมาธิภาวนา หรือยามป่วยไข้และไม่สามารถหาหมอรักษาได้ โดยออกแบบท่าทางให้คล้ายกับรูปร่างสัตว์ต่าง ๆ เช่น ท่าเต่า (Tortoise Pose หรือ Kurmasana) ที่เป็นท่านั่งโน้มตัวลงชิดพื้น สอดแขนลอดใต้ขา และไขว้มือทั้งสองมาสัมผัสกันที่แผ่นหลัง มีส่วนช่วยยืดหยุ่นผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดหลัง การเลียนแบบรูปร่างสัตว์นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ตนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ไม่มีใครเหนือหรือด้อยกว่า โยคะดั้งเดิมของเหล่าโยคี จึงมีความหมายในแง่ของการรักษาร่างกาย ซึ่งเป็นที่ ๆ ให้จิตใจได้อยู่อาศัย เมื่อร่างกายได้ปรับสมดุลและผ่อนคลายแล้ว จิตใจก็พลอยเบิกบาน การบำเพ็ญภาวนาก็ราบรื่นและเข้าถึงหนทางแห่งการบรรลุได้ดียิ่งขึ้น

โยคะยุคใหม่

ก่อนจะเดินทางข้ามกาลเวลานับพันปีมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ โยคะได้ผ่านการปรับปรุง เสริมสร้าง คิดค้น เปลี่ยนแปลง ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย จากเดิมที่ปฏิบัติกันในหมู่ผู้บำเพ็ญภาวนา ก็กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำมาฝึกได้ จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก แน่นอนว่า เมื่อศาสตร์โยคะดั้งเดิมได้เดินทางไปสู่ดินแดนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ย่อมถูกนำไปปรับปรุงให้เข้ากับวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มารองรับเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเห็นประโยชน์ของการเล่นโยคะว่าดีต่อสุขภาพร่างกาย มากกว่าที่จะเน้นเรื่องของการเข้าถึงจิตวิญญาณดั้งเดิมแบบโลกตะวันออก เราจึงได้รู้จักโยคะยุคใหม่มากมาย เช่น โยคะร้อน (Hot Yoga) ที่เล่นโยคะกันในอุณภูมิห้องที่เท่ากับอุณภูมิร่างกายที่ประมาณ 38 – 40 องศา, แอ็คโครโยคะ (Acro Yoga) เป็นโยคะที่มีผู้เล่นหลัก 2 คน โดยต่อตัวกันคล้ายกับการกายกรรม คนหนึ่งเป็นฐาน (Base) ส่วนคนที่อยู่ด้านบนเป็นตัวบิน (Flyer) บางกรณีจะมีคนที่ 3 เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ (Supporter) ในกรณีที่คนข้างบนอาจหล่นลงมา หรือแม้แต่แอเรียลโยคะ (Aerial Yoga) ที่ผู้เล่นจะทำอาสนะโดยการคล้องเชือกกับตัวเองที่แขวนเพดาน เป็นโยคะที่ช่วยแก้อาการปวดหลังได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

แม้โยคะในปัจจุบันจะต่อยอด แตกแขนงจากแบบดั้งเดิมขึ้นมากมาย และถูกมองในแง่ของการออกกำลังกายมากกว่าการสร้างสมาธิ แต่หากได้ปฏิบัติไประดับหนึ่ง ผู้คนจะรับรู้เองว่า นอกจากร่างกายที่แข็งแรงขึ้น โยคะยังให้ประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาจิตใจและอารมณ์ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักตั้งแต่ในอดีตนั่นเอง