ความแตกต่างทางกาลเวลาของโยคะดั้งเดิมและโยคะสมัยใหม่

เป็นที่รู้กันว่า โยคะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียมากกว่าห้าพันปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ การดำรงอยู่ของโยคะจึงอาจไม่ได้ครอบคลุมศาสตร์ดั้งเดิมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานเก่าแก่ที่ยังคงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นไม้แกะสลัก รูปปั้นท่าฝึกต่าง ๆ ก็ยังพอทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่า แนวคิด วิทยาการ การรักษาร่างกายและจิตใจของมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อนเป็นอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่แบบไหนได้บ้าง

โยคะดั้งเดิม

โยคะดั้งเดิม มีต้นกำเนิดมาจากโยคีในประเทศอินเดีย ที่ต้องการรักษาร่างกาย เมื่อยามเจ็บปวดจากการทำสมาธิภาวนา หรือยามป่วยไข้และไม่สามารถหาหมอรักษาได้ โดยออกแบบท่าทางให้คล้ายกับรูปร่างสัตว์ต่าง ๆ เช่น ท่าเต่า (Tortoise Pose หรือ Kurmasana) ที่เป็นท่านั่งโน้มตัวลงชิดพื้น สอดแขนลอดใต้ขา และไขว้มือทั้งสองมาสัมผัสกันที่แผ่นหลัง มีส่วนช่วยยืดหยุ่นผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดหลัง การเลียนแบบรูปร่างสัตว์นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ตนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ไม่มีใครเหนือหรือด้อยกว่า โยคะดั้งเดิมของเหล่าโยคี จึงมีความหมายในแง่ของการรักษาร่างกาย ซึ่งเป็นที่ ๆ ให้จิตใจได้อยู่อาศัย เมื่อร่างกายได้ปรับสมดุลและผ่อนคลายแล้ว จิตใจก็พลอยเบิกบาน การบำเพ็ญภาวนาก็ราบรื่นและเข้าถึงหนทางแห่งการบรรลุได้ดียิ่งขึ้น

โยคะยุคใหม่

ก่อนจะเดินทางข้ามกาลเวลานับพันปีมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ โยคะได้ผ่านการปรับปรุง เสริมสร้าง คิดค้น เปลี่ยนแปลง ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย จากเดิมที่ปฏิบัติกันในหมู่ผู้บำเพ็ญภาวนา ก็กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำมาฝึกได้ จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก แน่นอนว่า เมื่อศาสตร์โยคะดั้งเดิมได้เดินทางไปสู่ดินแดนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ย่อมถูกนำไปปรับปรุงให้เข้ากับวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มารองรับเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเห็นประโยชน์ของการเล่นโยคะว่าดีต่อสุขภาพร่างกาย มากกว่าที่จะเน้นเรื่องของการเข้าถึงจิตวิญญาณดั้งเดิมแบบโลกตะวันออก เราจึงได้รู้จักโยคะยุคใหม่มากมาย เช่น โยคะร้อน (Hot Yoga) ที่เล่นโยคะกันในอุณภูมิห้องที่เท่ากับอุณภูมิร่างกายที่ประมาณ 38 – 40 องศา, แอ็คโครโยคะ (Acro Yoga) เป็นโยคะที่มีผู้เล่นหลัก 2 คน โดยต่อตัวกันคล้ายกับการกายกรรม คนหนึ่งเป็นฐาน (Base) ส่วนคนที่อยู่ด้านบนเป็นตัวบิน (Flyer) บางกรณีจะมีคนที่ 3 เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ (Supporter) ในกรณีที่คนข้างบนอาจหล่นลงมา หรือแม้แต่แอเรียลโยคะ (Aerial Yoga) ที่ผู้เล่นจะทำอาสนะโดยการคล้องเชือกกับตัวเองที่แขวนเพดาน เป็นโยคะที่ช่วยแก้อาการปวดหลังได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

แม้โยคะในปัจจุบันจะต่อยอด แตกแขนงจากแบบดั้งเดิมขึ้นมากมาย และถูกมองในแง่ของการออกกำลังกายมากกว่าการสร้างสมาธิ แต่หากได้ปฏิบัติไประดับหนึ่ง ผู้คนจะรับรู้เองว่า นอกจากร่างกายที่แข็งแรงขึ้น โยคะยังให้ประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาจิตใจและอารมณ์ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักตั้งแต่ในอดีตนั่นเอง