โยคะกับอาหาร ไขข้อข้องใจ ผู้เล่นโยคะต้องกินมังสวิรัติเท่านั้นจริงไหม

คำกล่าวที่ว่า You are what you eat เป็นความจริงเสมอ หากเราเลือกกินอาหารที่เน้นอร่อยแต่ไม่เกิดคุณค่า ร่างกายเราก็จะแสดงออกมาเช่นเดียวกับอาหารที่กินลงไป คนที่อยากมีผิวพรรณดี มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ จึงมักใส่ใจกับอาหารการกิน เช่นเดียวกับการเล่นโยคะ เมื่อเราเลือกวิธีออกกำลังกายที่จะทำให้จิตใจได้จัดระเบียบอย่างโยคะ เท่ากับว่า เราให้ความสำคัญกับร่างกายตนเอง ดังนั้น การคำนึงถึงคุณภาพอาหารพร้อมกับบริหารร่างกายไปด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็น

คำถามที่พบบ่อยคือ หากโยคะมีต้นกำเนิดมาจากโยคี แล้วเราจำเป็นต้องกินอาหารมังสวิรัติเหมือนโยคีด้วยไหม คำตอบคือคุณสามารถกินอย่างไรก็ได้ตามความเหมาะสม แต่เหตุที่การกินมังสวิรัติมีผลต่อผู้ฝึกโยคะ เนื่องมาจาก แนวคิดในการฝึกที่ว่าอาหารมีผลต่อจิตใจเช่นเดียวกับที่มีผลต่อร่างกาย การกินอาหารบางอย่างจึงส่งผลต่อการฝึกพัฒนาจิตใจในการเล่นโยคะด้วย ดังนั้น จึงมีแนวทางในการเลือกกินอาหารสำหรับผู้ต้องการพัฒนาตนเองด้วยโยคะ ดังนี้

อาหารที่ควรกินมาก (Sattic food) 

อาหารที่สามารถกินได้ในปริมาณมากและไม่เป็นโทษต่อร่างกาย คืออาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว สมุนไพร เมล็ดพืชต่าง ๆ รวมไปถึงน้ำผึ้ง น้ำตาลทรายดิบ น้ำมันเนยอินเดีย (Ghee butter) อาหารจำพวกนี้มีผลให้รูปร่างดี เพราะย่อยง่าย ทำให้สบายท้อง ผู้กินก็รู้สึกจิตใจปลอดโปร่งไปด้วย 

อาหารที่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม (Rajasic food)

อาหารที่สามารถกินได้ในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป คือ อาหารที่มีรสเผ็ด  เค็ม ขม อาหารร้อนจัด หรือเย็นจัดต่าง ๆ เช่น พริกไทย หัวหอม กระเทียม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ไวน์ อาหารที่ร้อนหรือเย็นจัด เนื่องจากหากร่างกายถูกกระตุ้นด้วยอาหารพลังงานสูงเหล่านี้จะทำให้ไม่ได้รับการพักผ่อน จึงควรเลือกกินในบางโอกาส เช่น กินอาหารร้อนในฤดูหนาวที่ร่างกายต้องการความอบอุ่น

อาหารที่ควรกินแต่น้อย (Tamasic food)

อาหารที่ควรกินแต่น้อยคืออาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา ไข่ อาหารที่มีส่วนกระตุ้นการสูบฉีดการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง เนื่องจากอาหารจำพวกนี้ทำให้รู้สึกร่างกายหนัก ส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เกิดความเฉื่อยชา ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่มีแก่ใจจะออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

อาหารส่วนใหญ่ที่สด สะอาด ผ่านการปรุงสุกใหม่ ๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งนั้น แต่หากการฝึกโยคะทำให้หลายคนกังวลว่าต้องกินอาหารตามข้อปฏิบัติดั้งเดิมจึงจะบรรลุผลสำเร็จมากกว่าแต่ตนเองไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะแม้ว่าแนวทางดังกล่าวมาจากการทดลองที่ได้ผลของคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องกินอาหารแบบนั้น เช่นเดียวกับการฝึกท่าโยคะต่าง ๆ ที่บางคนสามารถก้มตัวหรือเหยียดยืดตัวได้มาก แต่บางคนกลับทำได้น้อย การกินอาหารก็เช่นเดียวกัน เพราะอาหารแต่ละอย่างส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ทุกข์ทรมานกับการจำกัดอาหารบางอย่างจนเกินไป จึงควรนำแนวทางข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตของแต่ละคนจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด