ขันทองแห่งทิเบต อีกหนึ่งการประยุกต์ร่วมกันระหว่างโยคะและการบำบัดด้วยเสียง

เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนยุคปัจจุบัน การรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยในสมัยก่อนจึงมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและอ้างอิงมาจากธรรมชาติ เช่น การนำพืชสมุนไพรมาทำยา การใช้ความร้อน ความเย็น แก้ฟกช้ำ ปรับอุณภูมิร่างกาย การใช้กลิ่นและเสียงในการรักษา โยคะเองก็เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น เมื่อคนในยุคปัจจุบันหันมาสนใจการฝึกปฏิบัติตามวิถีทางแบบธรรมชาติดั้งเดิม จึงนำศาสตร์เก่าแก่มาประยุกต์ใช้กับโยคะด้วย หนึ่งในนั้นคือการบำบัดด้วยเสียง

เสียงช่วยบำบัดและฟื้นฟูร่างกายอย่างไร

เสียงไม่ได้มีความสัมพันธ์แค่เฉพาะกับอวัยวะรับเสียงอย่างหูเท่านั้น แต่คลื่นเสียงยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย จนถึงระดับโมเลกุลได้ด้วย นั่นเพราะร่างกายคนเรามีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึง 60% ซึ่งเป็นส่วนที่คลื่นเสียงสามารถผ่านเข้าไปได้ดีที่สุด ทำให้การได้ยินเสียงบางอย่างสามารถไปกระตุ้นการทำงานในระดับเซลล์ของร่างกายได้ จึงมีผลในแง่ของการรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ

ลองนึกภาพถึงคนในยุคปัจจุบันที่ต้องทำงานหรืออาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังวุ่นวายตลอดเวลา นอกจากจะทำให้มีอารมณ์ที่หงุดหงิดง่ายหรือสมาธิสั้น ขาดความรอบคอบในการตัดสินใจแล้ว  การถูกรบกวนด้วยคลื่นเสียงที่ยุ่งเหยิงนานๆ อาจส่งให้เกิดความเครียดจนร่างกายเจ็บป่วย ต่างจากคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เช่น นักบวชที่อยู่ในวัด ที่ได้ยินเพียงเสียงลมพัดใบไม้ หรือเสียงกระดิ่งสั่นไหว ทำให้มีอารมณ์สงบ ส่งผลให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติและผ่อนคลาย ความเจ็บป่วยก็น้อยลง หรือไม่มีเลย

ขันทองแห่งทิเบต เสียงบำบัดจากอดีตและการฝึกโยคะ

หนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดด้วยเสียง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือขันหรือถ้วยบำบัดต่างๆ (Singing Bowl) ที่มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Jamboti Bowl, Thadobati Bowl, Remuna Bowl และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในปัจจุบัน คือขันทองแห่งทิเบต (Tibetan Singing Bowl) ที่มีประวัติยาวนานกว่าพันปี ปรากฏครั้งแรกในสมัยพระพุทธศากยมุณีในอินเดีย และถูกนำไปเผยแพร่ในทิเบต ถูกใช้โดยพระเพื่อการทำสมาธิ คลื่นเสียงที่มาจากการตีขันนี้ ช่วยปรับสมดุลของสมองซีกซ้ายและขวา ทั้งยังมีงานวิจัยรองรับในปัจจุบันว่า ช่วยลดความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และเจ็บปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย มีประสิทธิภาพในระดับที่สามารถทำให้ผู้ป่วยบางรายลดการกินยาได้ ในไทยเรายังถูกนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางแห่งด้วย ในแง่ของโยคะ ขันทองแห่งทิเบตถูกนำมาใช้ร่วมกับการทำสมาธิ ช่วยทำให้จิตใจจดจ่อกับสภาวะปัจจุบัน เชื่อมโยงจิตใจและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียว ส่วนใหญ่แล้วครูผู้สอนจะตีเป็นจังหวะในระหว่างที่นักเรียนทำสมาธิ แต่บางครั้งนักเรียนสามารถตีขันหรือถ้วยนี้เองระหว่างทำสมาธิไปด้วยได้

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสส่วนใด ทั้งการมองเห็น การสัมผัส การรับรส หรือการได้ยิน ล้วนมีความสำคัญต่อจิตใจและร่างกายของเราทั้งสิ้น เพราะจิตใจที่ได้รับการเยียวยา จะนำมาซึ่งร่างกายที่แข็งแรง เสียงบำบัดนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความมั่นคงจากจิตภายในและนำไปสู่ความแข็งแรงของร่างกายภายนอกเช่นกัน