รู้จัก หฐโยคะ (Hatha Yoga) หนึ่งในโยคะยอดนิยมรูปแบบหนึ่งในไทย

โยคะมีรูปแบบการฝึกมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น วินยาสะ โยคะ (Vinyasa Yoga), โยคะร้อน (Bikram Yoga), อัษฎางค์ โยคะ (Ashtanga Yoga), ไอเยนการ์ โยคะ (Iyengar Yoga), กุณฑลิณีโยคะ (Kundalini Yoga) และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่โยคะที่เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยและพบได้ทั่วไปในชั้นเรียนวิชาโยคะคือ หฐโยคะ (Hatha Yoga) ซึ่งเป็นโยคะที่ใช้มีท่าอาสนะไม่ยาก และมีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น ควบคุมการหายใจ ช่วยเพิ่มความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจใหม่ ๆ ที่อยากเริ่มต้นฝึกโยคะ

ความหมายที่แท้จริงของหฐโยคะ

แม้จะมีความเข้าใจต่อ ๆ กันมาว่า “หะ” (ha) ในภาษาสันสกฤตหมายถึงพระอาทิตย์ และ ฐะ (tha) หมายถึงพระจันทร์ และทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์แทนความร้อน และพระจันทร์เป็นสัญลักษณ์แทนความเย็น และหฐโยคะ มีส่วนช่วยสร้างความสมดุลของพลังงานทั้งสอง แต่ความหมายที่แท้จริงอีกอย่างหนึ่งของหฐโยคะ คือการฝึกโยคะโดยพยายามออกแรงด้วยท่าทางต่าง ๆ เพื่อส่งผลลัพธ์ไปยังกล้ามเนื้อ การหายใจ และนำไปสู่การทำสมาธิ

ไม่เคยเล่นโยคะมาก่อน ก็เริ่มต้นกับหฐโยคะ ได้

หากผู้เริ่มต้นใหม่เริ่มกับโยคะรูปแบบที่ยากเกินไป อาจหมดกำลังใจและรู้สึกท้อได้ แต่หฐโยคะ มีท่าอาสนะพื้นฐานที่สามารถฝึกทำตามได้อย่างไม่ยากเย็นหลายท่า โดยยกตัวอย่าง 3 ท่า ดังนี้

  1. ท่าภูเขา (Mountain Pose หรือ Tadasana)

ผู้ฝึกยืนตรง ให้นิ้วเท้าและส้นเท้าทั้งสองชิดติดกัน ให้ฝ่าเท้าและนิ้วเท้าแนบชิดกับพื้น จากนั้น รั้งหัวเข่าขึ้นจนรู้สึกตึง และเกร็งสะโพกกับกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน จากนั้น ยุบท้องและยกส่วนอกไปด้านหน้า ยืดกระดูกสันหลังและตั้งคอให้ตรง โดยระวังอย่าลงน้ำหนักบนปลายเท้าหรือส้นเท้าที่ใดที่หนึ่ง แต่ให้ทิ้งน้ำหนักทั้งสองส่วนเท่า ๆ กัน ท่าภูเขานี้มีประโยชน์ในการเสริมสร้างบุคลิกภาพ ช่วยให้ยืนหรือเดินหลังตรงได้ดีขึ้น

  1. ท่ายืนก้มตัว (Forward Fold หรือ Uttanasana)

ผู้ฝึกเริ่มต้นด้วยการยืนเท้าชิดติดกัน แล้วค่อย ๆ ก้มตัวลงไปพร้อมกับการหายใจออก ให้ฝ่ามือหรือปลายนิ้วมือสัมผัสพื้น ก้มหน้าให้มากที่สุดพร้อมกับหายใจเข้า จากนั้นจึงหายใจออกและผ่อนท่าทางเล็กน้อย โดยค้างท่านี้ไว้ประมาณ 1 นาที  ท่ายืนก้มตัวนี้มีส่วนช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อต้นขา แก้อาการปวดหัว ลดความเครียด วิตกกังวล รวมถึงช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

  1. ท่าต้นไม้ (Tree Pose หรือ Vrksasana)

ผู้ฝึกยืนตรง เท้าทั้งสองข้างชิดติดกัน วางแขนและมือทั้งสองข้างแนบลำตัว แล้วจึงยกขาขวาขึ้น จากนั้นจับข้อเท้าไปวางบนต้นขาซ้ายด้านใน โดยยกให้ชิดมากที่สุด เมื่อทรงตัวในท่านี้ได้แล้วจึงค่อยยกมือพนมไว้กลางอกหรือยกขึ้นเหนือหัว ทำค้างไว้ประมาณ 1 นาทีแล้วจึงเปลี่ยนสลับขาอีกข้าง ท่าต้นไม้จะช่วยให้กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อต้นขา น่อง และข้อเท้า ยืดหยุ่นและแข็งแรงขึ้น

จะเห็นว่าการฝึกหฐโยคะ เบื้องต้นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แม้คนที่ไม่มีพื้นฐานก็สามารถทำได้ สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกใหม่ ๆ อาจทำท่าได้ไม่สวยงามหรือเหยียดยืดลำตัวไม่ได้มาก และระหว่างฝึกอาจมีบางท่าที่ทำให้รู้สึก ตึง ปวด เกร็ง ก็อย่าพยายามฝืนร่างกายมากเกินไป เพราะเมื่อฝึกบ่อย ๆ เข้า การจัดระเบียบร่างกายก็จะดีขึ้นได้เองตามลำดับ ขอเพียงมีความอดทนและใจรักที่จะฝึกฝนมากพอ เชื่อว่า หฐโยคะ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เสริมสร้างสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจให้กับผู้ฝึกได้แน่นอน