“โยคะ” หนึ่งในการออกกำลังกายที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม

ในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างมาก คนรุ่นใหม่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีเพื่อชีวิตที่ยืนยาวและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยเหตุนี้ “โยคะ” จึงได้กลายมาเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีผลงานวิจัยทางวิชาการมากมายออกมาให้การรับรองว่าโยคะมีส่วนช่วยในการชะลอความเสื่อมวัยของมนุษย์อย่างได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอความเสื่อมของสมอง อวัยวะที่เปรียบเสมือนแม่ทัพใหญ่ของร่างกายมนุษย์

ภาวะสมองเสื่อม ความเสี่ยงสูงในผู้สูงอายุ

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือ ภาวะที่สมองสูญเสียความสามารถในการจดจำ การคิดวิเคราะห์และทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้แย่ลง ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในภาวะสมองเสื่อมสูงถึง 50 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 10 ล้านคนในทุกปี โดยประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจะป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์(Alzheimer) หรือโรคความจำเสื่อมจากการตายของเซลล์ประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการลืมเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแบบถาวร ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หลายรายถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้พิการไม่สามารถอยู่อาศัยโดยลำพัง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด บางครอบครัวแบกรับภาระไม่ไหวเพราะเกินกำลังจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในที่สุด

ในปี 2014 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Teesside ประเทศอังกฤษได้ออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกาย The Happy Antics Program สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อม และค้นพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ออกกำลังกายด้วยการฝึกโยคะ มีการตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การออกกำลังกายด้วยโยคะยังมีส่วนช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้อย่างได้ผล เนื่องจากลักษณะการออกกำลังกายของโยคะที่เน้นให้ผู้ฝึกเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจ ช่วยให้สมองเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลในเชิงลึกและประสานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นการบริหารทั้งส่วนของร่างกายและสมองไปในคราวเดียวกัน อีกทั้งลักษณะการเคลื่อนไหวในการฝึกที่เชื่องช้าค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระแทกลงน้ำหนักรุนแรง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของผู้ป่วย โยคะจึงเป็นทั้งการบำบัดและการออกกำลังที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมสูงเป็นอย่างดี

สมองดี ชีวิตดี สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

นอกจากสมองจะทำหน้าที่ในการคิดอ่านประมวลผลในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สมองยังเป็นคลังความรู้ชั้นยอดที่เก็บรักษาประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของคนเราไว้มากมาย ซึ่งช่วยให้มนุษย์ต่อยอดความคิดอ่านเพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ดังนั้นการดูแลรักษาสมองไม่ให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาจึงเป็นเรื่องที่เราควรต้องให้ความสำคัญ จริงอยู่ว่าความชราเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่การวางแผนชีวิตที่ดีจะทำให้เราสามารถก้าวเข้าสู่วัยชราได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม

การก้าวเข้าสู่วัยชราอาจไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากเรามีการดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี โดยเฉพาะสมองที่ยังมีประสิทธิภาพในการคิดอ่านและจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในวันที่ยังเป็นหนุ่มสาวสุขภาพแข็งแรง อย่าลืมที่จะใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเพื่ออนาคตที่ดีต่อไปด้วย