ทำไมพยาบาลถึงเคี่ยวเข็ญให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้องลุกออกจากเตียง และพยายามเดิน

แผลผ่าตัดโดยเฉพาะถ้ามันอยู่ที่ท้องจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไม่อยากจะกระดิกกระเดี้ยลุกขึ้นจากเตียง “ขอหนักเบาเอาที่เตียงก็แล้วกัน!” ไม่ต้องพูดถึงการเดิน แค่คิดก็หลับตาปี๋เสียแล้ว

ผลเสียของการไม่ขยับและลุกขึ้นเดินของผู้ป่วยหลังผ่าตัด

แม้ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยทุกคนจะต้องถูกเตรียมพร้อมร่างกาย งดน้ำ งดอาหาร และสวนทวาร เพื่อให้อาหารที่อยู่ในกระเพาะมีน้อยที่สุดเท่าจะเป็นไปได้ เพราะอะไร? เพราะถ้ากระเพาะถูกอัดแน่นไปด้วยน้ำและอาหาร ขนาดของกระเพาะและลำไส้จะเป็นอุปสรรคของการผ่าตัด ไม่ว่าหัตถการนั้นจะทำเพื่ออะไร ผ่าคลอด ผ่าไส้ติ่ง ผ่าหมันเปียก หรือผ่าอะไรต่าง ๆ มากมายที่อยู่บริเวณหน้าท้อง แต่สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดทันที การทำให้กระเพาะอาหารบางลงทำได้เพียงแค่การสวนทวารเท่านั้น และนี่คือสิ่งที่ทีมผ่าตัดจำเป็นต้องยอมรับความยากลำบากนั้น

แม้กระเพาะของผู้ป่วยหลังผ่าตัด จะมีอาหารเหลือน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้ากระเพาะอาหารไม่ได้ถูกเขย่า ลำไส้ที่ต่อจากกระเพาะไม่ได้ขยับ แก๊สที่เกิดจากการหมักหมมอาหารในรับไส้ จะไม่มีทางที่จะระบายออกมาภายนอกได้ นั่นหมายถึงผู้ป่วยไม่พยายามฝืนลุกขึ้นจากเตียง และเดินไปเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองหรือมีคนคอยพยุง แน่นอนการนิ่งเหมือนถูกสาปของผู้ป่วยหลังผ่าตัด จะส่งผลให้พวกเขาท้องอืด และหน้าท้องจะเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น เพราะกระเพาะอาหารอัดแน่นไปด้วยแก๊สและอาหารที่บูดเน่า รวมถึงแก๊สและของเหลวที่อัดแน่นอนอยู่ในลำไส้ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อแผลผ่าตัด

แผลผ่าตัดที่ปริออกมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เสมอ

ลองนึกภาพเนื้อที่หน้าท้องของคุณ ถูกผ่าออกเป็นสองฝั่ง แล้วเย็บปิดแผล (ดึงเนื้อที่แยกออกมาติดกันด้วยการเย็บ) ด้วยด้ายไนลอน (ไหมตัด) หรือด้ายสังเคราะห์ (ไหมละลาย) ถ้าหน้าท้องของคุณพองโต แผลผ่าตัดที่ไหมเย็บดึงให้มาติดติดกัน จะปริออก และอย่าลืมว่าเนื้อหนังของคนเรานั้นมีหลายชั้น และการเย็บปิดแผลจะต้องเย็บให้ติดกันทุกชั้น ( 2 – 3 ชั้น ขึ้นอยู่กับว่าผ่าอะไรตำแหน่งไหน) กระเพาะที่อืดพองจะดันลำไส้ที่บวมปูดอัดกับเนื้อหนังหน้าท้อง ทำให้แผลผ่าตัดปริไม่แนบสนิทกันอย่างที่ควรจะเป็น ความเสี่ยงที่แผลผ่าตัดจะติดเชื้อจะมีสูงมาก

ใครที่เคยผ่าตัดมาแล้ว คงเคยถูกพยาบาลบังคับให้ลุกขึ้นจากเตียง และพยายามเดินให้ได้แม้จะเจ็บแผลปวดตัวแค่ไหน เพราะผู้ดูรักษาคุณไม่ต้องการให้คุณท้องอืด ซึ่งแน่นอนมันเป็นความเสี่ยงที่ทีมแพทย์และพยาบาลจะต้องบริหารจัดการ ดังนั้น ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหน้าท้อง จำเป็นจะต้องกัดฟันฝืนลุกขึ้น และให้ญาติช่วยพยุงเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินออกจากเตียงไปที่หยิบของที่วางอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก

หลายคนอาจงงว่าบทความนี้มาอยู่ในเว็บไซต์ออกกำลังกายได้อย่างไร

คุณลองเปรียบเทียบกิจวัตรของตัวเองกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ขนาดผู้ป่วยหลังผ่าตัดถูกบังคับให้งดน้ำงดอาหาร และถูกสวนทวารก่อนเข้าห้องผ่าตัด ท้องพวกเขายังอืดพองโตจนทำให้แผลติดเชื้อได้ ในขณะที่คุณซึ่งมีสุขภาพร่างกายปกติ (อาจจะ) กินอาหารเข้าไปทุกวัน วันละ 3 มื้อ (ไม่รวมขนมขบเคี้ยว ของว่าง ที่คุณหยิบใส่ปากอยู่เสมอ) ถ้าคุณไม่ขยับออกกำลังกาย กระเพาะอาหารไม่ถูกเขย่า ลำไส้ไม่ขยับนอนนิ่งตามท่าทางที่คุณไม่เขยื่อนไปไหนเหมือนหิน ไม่มีแรงโน้มถ่วงช่วยให้ของเหลาเหล่านั้นเคลื่อนที่ได้ตามปกติการขับถ่าย ระบบการย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของคุณจะผิดปกติมากขนาดไหน

ลองคิดดูว่าถ้าคนเรานอนราบอยู่บนเตียง น้ำและอาหารในกระเพาะจะอยู่ในลักษณะไหน และของเหลวที่เริ่มเน่าเสียในลำไส้จะมีรูปร่างอย่างไร “มันจะเหมือนก้อนหินจมอยู่ใต้น้ำ” แล้วถ้าคุณนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน หรือนอนสไลด์สมาร์ทโฟนรับออเดอร์ลูกค้าทั้งวัน ไม่ยอมขยับออกกำลังกาย ของเหลวทั้งหลายที่ถูกย่อยโดยฟันในด่านแรก จะไปตกตะกอนกลายเป็นก้อนหินใต้น้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้ของคุณ ระบบย่อยอาหารของคุณจะเริ่มมีปัญหาตามมาเป็นพะเรอเกวียน ตามด้วยระบบขับถ่ายจะค่อย ๆ เสื่อมลง

ธรรมชาติสร้างสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ขึ้นมาเป็นปกติออกกำลังกาย เหมือน Push Button Switches มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกให้ชีวิตของคุณเป็นแบบปกติเปิด (NO) หรือปกติปิด (NC) ถ้าคุณเลือกที่จะเปิดโอกาสให้ชีวิตสัมผัสกับการออกกำลังกาย ระบบการทำงานในร่างกายของคุณก็จะเป็นปกติอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถ้าคุณเลือกปิดโอกาสที่จะได้ออกกำลังกาย ด้วยข้ออ้างยอดฮิต “ไม่มีเวลา” ระบบร่างกายของคุณจะเริ่มผิดปกติ และสิ่งที่ตามมาคือความเสื่อมก่อนเวลาอันควร คุณจะเลือกแบบไหน?