“ปราณายามะ” ลมหายใจของโยคะ

ศาสตร์แห่งโยคะได้รับการบันทึกรวบรวมตำราเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกโดยปตัญจลี (Patanjali) ซึ่งกล่าวว่าโยคะเป็นการฝึกเพื่อควบคุมจิตใจให้สงบนิ่ง ช่วยให้พลังงานชีวิตไหลเวียนทั่วร่างกายโดยไม่ติดขัด ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้คือการฝึกกำหนดลมหายใจของตนเองให้เป็นระบบเพื่อให้เกิดสติรู้จักตัวตน การฝึกปราณายามะจึงนับว่าเป็นการฝึกสมาธิวิธีหนึ่งนั่นเอง

วิธีฝึกหายใจแบบปราณายามะอย่างง่าย

ปราณายามะ (Pranayama) เกิดจากการสมาสศัพท์ในภาษาสันสกฤต 2 คำ คือ ปราณา (Prana) หมายถึง ลมหายใจหรือชีวิต และอยามะ(Ayama) หมายถึงการยืดอกและกลั้นลมหายใจเอาไว้ ดังนั้นหลักในการฝึกปราณายามะจึงประกอบไปด้วย การฝึกหายใจเข้า การฝึกหายใจออก และการฝึกกลั้นลมหายใจ การหายใจแบบปราณายามะขั้นต้นจะฝึกหายใจเข้าและออกสลับไปกับแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติท่าต่าง ๆ ของโยคะ โดยจะหายใจเข้าเมื่อเริ่มปฏิบัติท่า หายใจออกเมื่อคลายท่า (หรือกลับกันขึ้นกับท่าที่ปฏิบัติ) โดยแต่ละท่าจะหายใจเข้าออกสลับกันไปประมาณ 4-6 ครั้ง

วิธีฝึกการหายใจแบบเบื้องต้นในทางโยคะที่ได้รับความนิยมที่สุดคือการฝึกหายใจเข้าออกสลับกับการปฏิบัติท่าโยคะสามารถทำโดยอาศัยหลักที่ว่า ร่างกายหายใจเข้าเพื่อนำลมหายใจมาใช้สร้างพลังงาน ดังนั้นจังหวะในการหายใจเข้าคือเมื่อเริ่มเต้นข้าสู่ท่าของโยคะ เมื่อถึงจังหวะที่ต้องออกแรงให้กล้ามเนื้อหดตัวหรือจำเป็นต้องเกร็งตัวผู้ฝึกจะเริ่มกลั้นลมหายใจไว้และเคลื่อนไหวในช่วงเวลาสั้น ๆ ส่วนจังหวะการหายใจออกคือเมื่อเข้าสู่การคลายตัวของกล้ามเนื้อหรือการคลายท่าทางที่ปฏิบัติอยู่เพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อเรียนรู้ที่จะปรับตัวและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องในการยืดเหยียดท่าทางต่าง ๆ ตามลักษณะการหายใจของผู้ฝึกในที่สุด

การหายใจผิดจังหวะขณะฝึก มีผลเสียอย่างไร

สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกโยคะใหม่ ๆ อาจมีข้อสงสัยขึ้นมาในใจว่าหากตนหายใจผิดจังหวะหรือไม่ใส่ใจที่จะฝึกการหายใจควบคู่ไปกับการฝึกโยคะด้วยจะเป็นอะไรหรือไม่ คำตอบคือผู้ฝึกอาจไม่ได้รับผลดีของการฝึกโยคะสูงสุดเท่าที่ควรจะได้ และอาจเกิดการบาดเจ็บของอวัยวะบางอย่างระหว่างปฏิบัติโยคะบางหากไม่ระวังให้ดี เนื่องจากการฝึกหายใจเข้าออกดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้กล้ามเนื้อสามารถนำออกซิเจนในลมหายใจไปใช้ได้สูงสุด อีกทั้งยังช่วยให้การหดคลายของกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งมีลักษะเป็นแผ่นกั้นระหว่างช่องออกและช่องท้องของมนุษย์ เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่ระวังในการหายใจให้ดีอาจทำให้หายใจผิดจังหวะจนเกิดอาการจุกเสียด อวัยวะภายในถูกเบียดมากกว่าปกติ หรือในบางกรณีอาจเกิดอาการสะอึกเนื่องมาจากการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลมและการหายใจไม่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้การไม่เรียนรู้ที่จะฝึกหายใจให้ถูกต้องควบคู่ไปกับการฝึกโยคะ ยังทำให้ผู้เรียนพลาดที่จะได้ฝึกสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวตนเอง ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิชนิดหนึ่งด้วย

ดังนั้นแล้วการฝึกโยคะให้ประสบผลสำเร็จสูงสุด นอกจากการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติท่าทางต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักแล้ว ผู้ฝึกจำเป็นต้องใส่ใจในการฝึกหายใจแบบปราณายามะอย่างระมัดระวังร่วมด้วยเช่นกัน หากสามารถปฏิบัติท่าได้สวย หายใจถูกวิธี ทั้งผลของสุขภาพที่ดีและสมาธิสติย่อมบังเกิดแก่ผู้ฝึกอย่างแน่นอน