มาลดน้ำตาลในเลือด ด้วยการฝึกโยคะกันเถอะ

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “โรคเบาหวาน” (Diabetes mellitus)เป็นหนึ่งในโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย และมีปัญหาในการนำพลังงานไปใช้เนื่องจากมีปัญหาในการนำน้ำตาลไปสร้างพลังงานสะสม ทำให้ไม่เหมาะที่จะออกกำลังกายทั่วไปที่ใช้แรงเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้นโยคะจึงกลายมาเป็นตัวเลือกในการออกกำลังกายที่ตอบโจทย์ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ค่อยเป็นค่อยไปแต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน ยิ่งกว่านั้นโยคะยังมีส่วนช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย

กลไกการลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยโยคะ

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักคือ Type 1 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่หลั่งฮอร์โมนอินซูลิน และ Type 2 ซึ่งเกิดจากตัวรับฮอร์โมนอินซูลินของเซลล์ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทั้งสองกรณีส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นกว่าคนปกติ และส่งผลให้ไตไม่สามารถดูดกลับน้ำตาลจำนวนมากนี้ได้ทั้งหมดจึงสามารถพบน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยได้ด้วย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่าปกติ

จากการวิจัยในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งสองชนิด พบว่าผู้ป่วยที่ทำการฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องจะสามารถกระตุ้นเบต้าเซลล์ในตับอ่อนให้เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งเบต้าเซลล์ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน Type 1 มีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะเดียวกันการฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องยังช่วยให้ตัวรับอินซูลินในเซลล์เป้าหมายมีความไวต่อการรับฮอร์โมนอินซูลิน (insulin sensitivity) เพิ่มสูงขึ้น ทั้งสองกรณีส่งผลให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานลดลงตามมาในที่สุด

โยคะลดฮอร์โมนเครียด อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

นอกจากโยคะจะมีส่วนช่วยในการลดน้ำตาลในเลือดด้วยกลไกดังกล่าวข้างต้น การฝึกโยคะเป็นประจำต่อเนื่องยังช่วยให้ผู้ฝึกลดความกังวล คลายเครียด ทำให้ปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดลดน้อยลงตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วฮอร์โมนคอร์ติซอลจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานต่าง ๆ เมื่อไม่เกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลจึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของผู้ป่วยลดลงกว่าปกติด้วยเช่นกัน การฝึกโยคะจึงส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงจากการออกกำลังกายร่วมด้วย

รู้ข้อดีมากมายของโยคะอย่างนี้แล้ว อย่าลืมแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่รู้จักให้ลองเริ่มต้นฝึกฝนดูเพื่อผลดีต่อสุขภาพมากมาย เพราะบางครั้งการให้กำลังใจผู้ป่วยก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการให้คำแนะนำที่ดีเมื่อมีโอกาส ในทางกลับกันหากวันนี้คุณเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังหาวิธีดูแลสุขภาพตัวเองอยู่ โยคะอาจจะเป็นคำตอบของการสร้างสุขภาพที่ดีที่คุณตามหาอยู่ก็เป็นได้