เหตุใดโยคะจึงเรียก “ต่อมไพเนียล” ว่าเป็นตาที่สามของมนุษย์?

ผู้ฝึกโยคะหลายท่านคงจะคุ้นเคยดีกับทฤษฏีจักระทั้ง 7 (Chakras) ซึ่งหมายถึงจุดตัดลมปราณอันเป็นแหล่งพลังงานชีวิตที่สำคัญทั้ง 7 แห่งตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย โดยนับขึ้นมาจากตำแหน่งแรกที่ปลายสุดของกระดูกก้นกบเรื่อยมาจนถึงตำแหน่งที่สูงที่สุด คือจุดตัดตรงกึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสองอันเป็นตำแหน่งของ สหัสสราระ (Crown ChakraSahasrara) ซึ่งในทางโยคะเชื่อกันว่าเป็นตำแหน่งของตาที่สาม ซึ่งเป็นดวงตาที่เชื่อมต่อกับจิตวิญญาณของเรา โดยต่อมาได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบในทางวิทยาศาสตร์และเชื่อกันว่าตำแหน่งดังกล่าวนั้นคือตำแหน่งของต่อมไพเนียล หนึ่งในต่อมไร้ท่อที่สำคัญของมนุษย์

ต่อมไพเนียลในทางวิทยาศาสตร์กับความเกี่ยวข้องกับตาที่สาม

ตามความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ ต่อมไพเนียล (Pineal gland) เป็นต่อมไร้ท่อเพียงชนิดเดียวที่ทำงานขึ้นกับอิทธิพลของแสงสว่างที่เรามองเห็น โดยเมื่อมีแสงมากตกกระทบกับดวงตาของคนเราจะเกิดการนำกระแสประสาทไประงับการทำงานของต่อมไพเนียล ทำให้ต่อมไพเนียลไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาได้ ตรงกันข้ามกับช่วงเวลาที่ไม่มีแสงหรือช่วงกลางคืน ต่อมไพเนียลจะถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งช่วยในการนอนหลับของคนเราออกมา ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าเพราะต่อมไพเนียลมีบทบาทสำคัญให้เกิดการหลับลึกและเกิดความฝัน สอดคล้องกับลักษณะของตาที่สามที่เชื่อว่าเป็นดวงตาที่เชื่อมต่อระหว่างจิตวิญญาณของคนเรา  การฝึกโยคะที่จดจ่อต่อตำแหน่งเดียวกับบริเวณของต่อมไพเนียลจึงอาจจะช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไพเนียลให้หลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินได้มากขึ้น และทำให้เกิดภาวะเข้าสู่สมาธิในระดับลึกได้ในทำนองเดียวกับการทำให้เกิดการหลับลึกเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าในสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดอย่างกิ้งก่าทัวทารา (Tuatara) กิ้งก่ายุคดึกดำบรรพ์ซึ่งมีต้นกำเนิดในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ที่เกาะทางใต้ของประเทศนิวซีแลนด์)  พบต่อมไพเนียลยื่นเหนือส่วนหัวอยู่ในส่วนกลางของกระหม่อมและทำหน้าที่ในการรับแสงได้เช่นเดียวกับดวงตา ในบางครั้งจึงอาจเรียกกิ้งก่าทัวทาราว่ากิ้งก่าสามตาก็ได้  กรณีที่ต่อมไพเนียลของเจ้ากิ้งก่าสามตาสามารถรับแสงได้เช่นเดียวกับดวงตานี้ยิ่งตอกย้ำสมมุติฐานว่าต่อมไพเนียลอาจจะทำหน้าที่เป็นตาที่สามของมนุษย์ดังที่มีบันทึกไว้ในทางโยคะได้ด้วยเช่นกัน  ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในปัจจุบันผู้คนจึงเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าจักระที่ 7 หรือตาที่สามที่ถูกกล่าวถึงในทางโยคะนั้น ก็คือต่อมไพเนียลของมนุษย์นั่นเอง

การเปิดขึ้นของตาที่สามทางโยคะกับต่อมไพเนียล

จากทฤษฏีความเชื่อของเรื่องจักระทั้ง 7 ของมนุษย์ ในทางโยคะมีความเชื่อว่าหากผู้ฝึกโยคะสามารถฝึกฝนจนสามารถกระตุ้นจักระทั้ง 6 ได้แก่ มูลธาร สวาธิษฐาน มณีปุระ อนาหตะ วิศทะ และอะชะ ได้แล้ว  จักระตำแหน่งสุดท้ายจะถูกกระตุ้นตามมาด้วยเช่นกัน  สอดคล้องกับการทำงานของต่อมไพเนียลซึ่งมีหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินเพื่อไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน FSH และ LH ที่ถูกหลั่งจากต่อมใต้สมอง ช่วยควบคุมสมดุลไม่ให้ FSH และ LH มีปริมาณมากเกินไป  ดังนั้นการกระตุ้นต่อมใต้สมองจนเกิดการหลั่ง FSH และ LH ในปริมาณมาก ย่อมส่งผลให้ต่อมไพเนียลเกิดการกระตุ้นเพื่อหลั่งฮอร์โมนเมลานินมายับยั้งฮอร์โมนดังกล่าวในเวลาต่อมานั่นเอง

คำกล่าวที่ว่าตาที่สามคือดวงตาที่สามารถเชื่อมต่อกับจิตวิญญาณของเรา ทำให้เกิดความตระหนักรู้และเข้าใจสรรพสิ่งต่าง ๆ แท้จริงแล้วอาจจะหมายถึงการฝึกสมาธิให้รู้จักหยุดนิ่งเพื่อพิจารณาจิตใจของตนเองให้ดี เพราะเมื่อเราสามารถเข้าใจกลไกจิตใจของตัวเองได้ดีแล้ว เราก็ย่อมเข้าใจทุกสรรพสิ่งตามมาเช่นกัน