สไตล์การออกกำลังกายแบบไหนที่ใช่สำหรับคุณ

ก่อนเริ่มต้นเข้าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายอย่างจริงจัง บางทีคุณอาจจะต้องหยุดถามตัวเองให้แน่ใจก่อน ว่าจุดประสงค์ของการออกกำลังกายในครั้งนี้คืออะไร ไม่ใช่แค่การเห็นคนอื่นวิ่งก็ไปวิ่งด้วยหรือเห็นคนอื่นยกเวทก็ยกตาม เพราะสุดท้ายผลที่ได้จากการออกกำลังกายอาจจะไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการเลย ดังนั้นเรื่องของการทบทวนตัวเองให้ดีก่อนเริ่มต้นจึงนับเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้การเสียเหงื่อและเสียเวลาของเราไม่กลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

การออกกำลังกาย 3 สไตล์ยอดฮิตกับ 3 วัตถุประสงค์

แนวทางการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งแต่ละประเภทล้วนให้ประโยชน์ของการออกกำลังกายแตกต่างกันไป ได้แก่

1.การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “คาร์ดิโอ”  การออกกำลังกายประเภทนี้จะเน้นไปที่การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจให้สูงขึ้นกว่าปกติดต่อกันเป็นเวลานาน ช่วยให้หัวใจและปอดมีความแข็งแรงขึ้น และเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายไขมันและกล้ามเนื้อออกมาใช้ในการสร้างพลังงานมากขึ้นตามไปด้วย การออกกำลังกายประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อเน้นความแข็งแรงระบบต่าง ๆ และอวัยวะภายใจโดยเฉพาะหัวใจและปอดเป็นหลัก ตัวอย่างของการออกกำลังกายประเภทนี้ เช่น วิ่งมาราธอน เต้นแอโรบิค กระโดดเชือก ว่ายน้ำ เป็นต้น

2.การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง (Weight training) เป็นการออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มแรงดันเพื่อให้กล้ามเนื้อออกแรงต้าน ส่งผลให้มวลของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น เมื่อมวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นแล้วการเผาผลาญพลังงานของร่างกายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การออกกำลังกายประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีสัดส่วนร่างกายที่ดี หรือมีมัดกล้ามเนื้อสวยงาม โดยอาจจะเวทเทรนนิ่งทุกส่วนหรือแค่บางจุดที่ต้องการก็ได้ ตัวอย่างของการออกกำลังกายประเภทนี้ เช่น การยกน้ำหนัก วิดพื้น โหนบาร์ เป็นต้น

3.การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด (Stretching) การออกกำลังกายประเภทนี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้นและผ่อนคลายความตึงในส่วนต่าง ๆ ช่วยให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ด้วย การออกกำลังกายประเภทนี้เหมาะสำหรับการรักษาอาการออฟฟิตซินโดรม ลดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อ บริหารกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายประเภทอื่น หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างของการออกกำลังกายประเภทนี้ ได้แก่ โยคะ เต้นบัลเล่ต์ กายบริหาร เป็นต้น

วิธีการออกกำลังกายแต่ละประเภทล้วนมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนจะเริ่มต้นวางแผนการออกกำลังกายของตัวเอง เพราะหากไม่เข้าใจหลักการส่วนนี้แล้ว สุดท้ายย่อมไม่สามารถเกิดผลสำเร็จอย่างที่เราคาดหวังขึ้นมาได้

วิธีออกกำลังกายที่ดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การออกกำลังกายที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกันไป เพราะจุดประสงค์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน วิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุดจึงเป็นการวางแผนผสมผสานการออกกำลังกายในสไตล์ที่ให้ประโยชน์ตามความต้องการของตนเองเป็นอันดับแรก ในขณะเดียวกันก็ต้องออกกำลังกายในแนวทางที่เหลือควบคู่กันไปเพื่อผลที่ดีโดยรวมต่อสุขภาพด้วย

สุดท้ายแล้ว การออกกำลังกายที่ถูกต้องคือการต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราต้องการผลอะไรจากการออกกำลังกาย จากนั้นจึงเน้นแนวทางที่ใช่เพื่อผลที่ชอบ มีวินัยออกกำลังกายสม่ำเสมอและหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ  ถ้าทำได้ตามนี้แล้ว ผลสำเร็จของการออกกำลังกายย่อมเป็นของคุณแน่นอน